เตรียมพร้อมรับมืออาการ AMS ก่อนเที่ยวที่สูงในจีน

Last updated: 12 มิ.ย. 2563  |  23040 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ช่วงเข้าใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ต้าหัวได้ไปลุยอุทยานย่าติง ณ มณฑลเสฉวน ที่ได้ชื่อว่าเป็น "แชงกรี-ลา" หรือสรวงสวรรค์แห่งสุดท้ายบนโลก (the Last Paradise on Earth) มาค่ะ โดยนอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องธรรมชาติอันสวยงามจับใจแล้ว ความสูง 4,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลยังทำให้ย่าติงเป็นหนึ่งในสถานที่ปราบเซียนของขาเที่ยวด้วย เพราะการเที่ยวในเขตที่สูงซึ่งมีออกซิเจนเบาบาง (เช่น ย่าติง ทิเบต แชงกรี-ลาในยูนนาน เลห์ลาดัก ภูฏาน เอเวอเรสต์เบสแคมป์ รวมถึงเปรูและอื่น ๆ) ไม่ใช่เพียงแค่เก็บกระเป๋าจองตั๋วแล้วจะไปได้ปุบปับ แต่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้ากันพอสมควร โพสต์นี้เราขอนำทริคเตรียมตัวเที่ยวที่สูงที่ต้าหัวไปเก็บเกี่ยวจากทริปย่าติงมาฝากเพื่อน ๆ ค่ะ

ไปพิชิตย่าติงกันเถอะ!  

Tips & Tricks เตรียมตัวก่อนเที่ยวที่สูง

- สำคัญที่สุดอันดับหนึ่ง ห้ามเป็นหวัดก่อนไปเป็นอันขาด และเราอยากย้ำว่า เพื่อน ๆ ที่มีประวัติเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด หัวใจ และความดัน ก็ควรระมัดระวังการเดินทางท่องเที่ยวลักษณะนี้ด้วยนะ เพราะการขึ้นที่สูงจะส่งผลต่อการทำงานของปอดและการหายใจ ผู้มีโรคที่เกี่ยวข้องมีโอกาสสูงที่จะน้ำท่วมปอดซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

โดยปกติชาวที่ราบต่ำอย่างเราที่ไม่มีโรคใด มักจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว หรือมึนงงเล็กน้อย ซึ่งเมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้วก็มักจะท่องเที่ยวต่อได้เป็นปกติ แต่ในบางเคสก็ถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลท้องถิ่น พาลทำให้หมดสนุกไป แนะนำว่าควรฟิตร่างกายให้แข็งแรง และเช็คความพร้อมอย่างจริงจังก่อนเริ่มทริป


- ส่วนยาแก้อาการแพ้ที่สูง (High Altitude Sickness หรือบางตำราก็เรียก Acute Mountain Sickness | AMS) มีสองตัวเลือกคือยาตะวันตกไดอะม็อกซ์ (diamox) และยาจีนหงจิ่งเทียน (红景天) ขออธิบายแยกกันดังนี้

ไดอะม็อกซ์ไม่ใช่ยาใช้ทั่วไป ต้องระวังเรื่องอาการแพ้ยา จึงแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง นอกจากนี้ ร้านขายยาทั่วไปก็อาจหาซื้อไม่ได้ ควรลองโทรไปสอบถามก่อนนะคะ

ยาหงจิ่งเทียนชนิดน้ำ ดื่มก่อนเดินทางเข้าที่สูงราว 2-3 วันและทุกวันระหว่างทริป

ส่วนหงจิ่งเทียนเป็นยาจีนที่ต้องกินล่วงหน้าเล็กน้อย 2-3 วัน หาซื้อได้ตามร้านขายยาแผนจีนในกรุงเทพฯ แต่ต้องดูให้ดีว่าไม่ใช่สต็อกเก่าเก็บ และควรปรึกษาแพทย์แผนจีนก่อนใช้ ถ้าเป็นทริปที่พอมีเวลาหัวท้าย อาจเริ่มกินหลังจากเดินทางถึงจีนแล้วได้ เพราะส่วนใหญ่เส้นทางที่ราบสูงไกด์จะมีติดมาขายด้วยอยู่แล้ว หรือถ้าไปเองและพอสื่อสารได้ ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีทั้งแบบน้ำและแบบเม็ด

เทียบกันแล้ว สนนราคายาจีนสูงกว่ายาฝรั่ง และไม่การันตีว่าช่วยแก้อาการ AMS ได้ 100% แต่โดยทั่วไปนักเดินทางก็จะกินยากันไว้ก่อน ยังไงก็ควรประเมินสุขภาพและปรึกษาแพทย์นะคะ


เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์พร้อม การเทรคก็ราบรื่นไปกว่าครึ่ง

- แน่นอนว่าที่สูงคือที่หนาว และที่สูงที่สวยของจีนก็มักนิยมเที่ยวกันในฤดูใบไม้ร่วงที่บนเขาหนาวจริง ๆ จึงควรเตรียมอุปกรณ์แต่งกายทั้งหลายให้พร้อม เช่น รองเท้า ถุงเท้า ลองจอห์น เครื่องกันหนาว ที่ปิดหู หมวก แว่น ไม้เท้าสำหรับเทรคกิ้ง เพื่อน ๆ สายเทรคน่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่สำหรับมือใหม่ (หรือมือเก่าแต่ไม่ได้เทรคบ่อย ๆ ) ควรเชื่อคำแนะนำของไกด์หรือคนท้องถิ่นค่ะ ถ้าเขาทักว่าเสื้อผ้าบางไป ก็ควรซื้อหรือเช่าเพิ่ม เพราะทนหนาวจนไปเจ็บป่วยหน้างานนั้นไม่คุ้มเลย

- หลายคนสงสัยว่า จำเป็นต้องใช้ไอเทมเสริมอย่างออกซิเจนกระป๋องไหม? ขออธิบายว่า คนที่ไปถึงแล้วร่างกายปรับตัวช้า หายใจไม่สะดวก อาจจำเป็นต้องใช้ ซึ่งเคสที่ใช้ส่วนใหญ่ก็จะต้องใช้ไปตลอดทริปจนลงจากที่สูง ส่วนคนที่ไม่มีอาการก็ไม่ต้องใช้เลย หลาย ๆ ครั้งไกด์ท้องถิ่นจึงอยากให้เราปรับตัวให้ได้ตั้งแต่วันแรกที่ไปถึงเขตที่สูง โดยเดินช้า ๆ งดอาบน้ำหรืออาบได้แต่ไม่เกิน 3 นาที ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ และเข้านอนเร็ว เพราะหากผ่านคืนแรกไปได้โดยไม่มีอาการ ก็มักจะไม่ต้องใช้ออกซิเจนแล้ว

ปกติตามแหล่งท่องเที่ยวที่สูงในจีนจะมีออกซิเจนกระป๋องขายทั่วไป หรือหากไปกับทัวร์
ไกด์ก็มักจะมีติดไปขายอยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงว่าต้องหาล่วงหน้า เพราะไปหาซื้อในท้องที่ได้ค่ะ 


- เวลาเทรคจริง ควรทำตัวให้เบาและทะมัดทะแมงที่สุด เรายึดหลักตอนเช้าทานข้าวให้อิ่ม แล้วพกน้ำขวดกับขนมแคลอรีสูงไปเล็กน้อย แต่ตอนนี้จีนยังมีนวัตกรรมข้าวกล่องอุ่นร้อนสำเร็จรูป ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องหาอาหารร้อนกินระหว่างการเทรคได้เป็นอย่างดี อาจใช้เป็นตัวช่วยได้ ส่วนสายกล้อง หากอุปกรณ์เยอะควรพิจารณาสภาพร่างกายประกอบด้วย ถ้าสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีอาการมึนงง สามารถแบกอุปกรณ์เยอะได้ ก็ไม่มีปัญหาค่ะ

ข้าวกล่องอุ่นร้อนสำเร็จรูป ถ้าซื้อตั้งแต่ในเมืองใหญ่ก็มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อเลย
ทำให้ร้อนโดยเทน้ำลงบนซองสารเคมีให้ทำปฏิกิริยากัน

- จากประสบการณ์หลายทริป หลายพื้นที่ ที่เจอมาโดยเราเองและนักเดินทางหลายท่าน รวมกับคำแนะนำของไกด์ท้องถิ่น เรายังมองว่าการเที่ยวที่สูงแบบย่าติง แชงกรี-ลา และทิเบต ควรใช้วิธีนั่งรถขึ้นไป (ไม่ว่าจะรถบัสหรือรถไฟ) เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับความกดอากาศ ถึงจะกินเวลามากกว่า แต่ก็ได้เก็บวิวทิวทัศน์สวยงามรายทาง แถมโอกาสเจ็บป่วยก็ต่ำกว่าด้วย แต่หากใครเวลาน้อยและต้องนั่งเครื่องบินไปกลับจริง ๆ ก็ควรฟิตร่างกายให้ดี หรืออาจลองพิจารณาเป็นขากลับแทน


- นอกจากนี้ เรายังอยากให้เพื่อน ๆ พิจารณาเรื่องการทำประกันสุขภาพก่อนเดินทางด้วย เพราะในเคสที่สุดวิสัยจริง ๆ จนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ (ซึ่งในแต่ละทริปก็ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่านักเดินทางแต่ละคนจะมีอาการอย่างไร) ก็ควรเข้าโรงพยาบาลท้องถิ่นเพื่อทำการรักษา เพราะโรงพยาบาลเหล่านี้มีความชำนาญและคุ้นเคยกับการรับมือเคส AMS  อยู่แล้ว เมื่อหายดีหรืออาการทรงตัว ค่อยเคลื่อนย้ายไปที่ราบต่ำต่อไป ที่สำคัญคืออย่าฝืนร่างกายตัวเองแต่แรก หากรู้สึกว่าอาการไม่ดีตั้งแต่ต้น ๆ ทริปก็ควรพักผ่อน รักษาสุขภาพของเราไว้ก่อนนะคะ

สุดท้ายนี้ แม้ตอนนี้เราจะยังไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวจีนได้เพราะสถานการณ์ covid-19 แต่ก็หวังว่าเมื่อสถานการณ์บรรเทาขึ้นแล้ว จีนจะกลับมาเปิดพรมแดนให้เราได้เข้าไปเยี่ยมชมความงามของสถานที่ต่าง ๆ ในเร็ววัน


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้