Last updated: 21 ส.ค. 2563 | 3743 จำนวนผู้เข้าชม |
เมืองจีนเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว อากาศก็หนาวเหน็บชวนให้ขลุกตัวอ่านหนังสืออยู่ใต้ผ้านวมเป็นที่สุด เอนทรีนี้ต้าหัวขอชวนชาวหนอนหนังสือไปเซอร์เวย์ร้านหนังสือในกรุงปักกิ่งกัน
Page One | 叶一堂 (Qianmen | 前门)
เชนร้านหนังสือสัญชาติสิงคโปร์ที่เข้ามาลุยตลาดจีน อันที่จริง Page One ในปักกิ่งยังมีอีกสามสาขา อีกสาขาที่เดินทางค่อนข้างสะดวกคือในโครงการไท่กู๋หลี่ซานหลี่ถุนไม่ไกลจาก the Bookworm แต่เราชอบสาขาที่เฉียนเหมินในโครงการ Beijing Fun มากกว่า เพราะดีไซน์โปร่งสบายชวนให้เดินหลงอยู่ข้างในได้ทั้งวัน
ที่นี่สต็อกหนังสือภาษาอังกฤษเยอะพอสมควร แต่ฝั่งหนังสือจีนละลานตากว่ากันหลายเท่า มีคาเฟ่และโซนเครื่องเขียนกระจุ๊กกระจิ๊ก แถมยังเปิด 24 ชั่วโมงด้วยนะ เดินเที่ยวเสพความจีนโบราณในเฉียนเหมินเสร็จแล้ว แวะมาพักชมความร่วมสมัยแบบเงียบสงบที่ Page One กันได้
จุดวาร์ป: จากสถานีรถไฟใต้ดินเฉียนเหมิน (前门 | Qianmen) ทางออก C เดินไปอีก 500 เมตร ถ้าเจอสตาร์บัคส์เฉียนเหมินก็คืออยู่เยื้อง ๆ ไปทางด้านหลังนั่นเองจ้ะ
The Bookworm Beijing | 老书虫
The Bookworm นั้นแทบจะกลายเป็นสถาบันด้านร้านหนังสืออินดี้ของปักกิ่งไปแล้ว ด้วยความที่ดำเนินกิจการมานานปี และทำเลใกล้ย่านฮิปอย่างซานหลี่ถุน ทำให้มีลูกค้าทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติแวะเวียนมาไม่ขาด
ในร้านสต็อกหนังสือภาษาอังกฤษพอสมควร แต่ที่ทำให้ร้านนี้โด่งดังจริง ๆ คือกิจกรรมและงานเสวนาต่าง ๆ ที่มักจะมาจัดกันที่นี่ บางสัปดาห์ยังมีแสตนด์อัพคอเมดี้ในภาษาอังกฤษด้วยนะ นอกจากนี้ยังมีคาเฟ่กับบาร์เก๋ ๆ ที่จะเปิดในช่วงค่ำ เรียกว่าเป็นที่ชุมนุมหลัก ๆ ของชาวปักกิ่งในแวดวงวรรณกรรมและบรรดา expat ในปักกิ่งเลย
จุดวาร์ป: จากสถานีรถไฟใต้ดินถวนเจี๋ยหู (团结湖 | Tuanjiehu) ทางออก D เดินไปอีกราว ๆ 900 เมตร อยู่ฝั่งตรงข้ามด้านหน้าโครงการไท่กู๋หลี่ซานหลี่ถุน
Sisyphe | 西西弗书店
Sisyphe เป็นเชนร้านหนังสืออิสระขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในเวลานี้ มีต้นกำเนิดจากร้านเล็ก ๆ ในกุ้ยโจวเมื่อปี 1993 แล้วขยายไปตามเมืองต่าง ๆ ทางภาคใต้ ก่อนจะสยายปีกมาถึงปักกิ่งเมื่อปี 2017 นี่เอง ซึ่งเราคิดว่า Sisyphe เป็นหนึ่งในร้านหนังสือเชนที่เข้าท่าที่สุดในปักกิ่ง ณ เวลานี้ เพราะมักมีทำเลในห้างที่เดินทางสะดวก ชั้นหนังสือก็จัดอย่างสวยงามใส่ใจ ให้ฟีลหาหนังสือเจอแน่เหมือนคิโนะฯผสมความอบอุ่นแบบร้านหนังสืออินดี้
หนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาจีนร่วมสมัย เรียกว่าถ้าจะหาหนังสือปกใหม่ ๆ ที่กำลังอยู่ในกระแสล่ะก็ เข้าร้าน Sisyphe แล้วจะไม่ผิดหวังเลย หลายสาขามีคาเฟ่เล็ก ๆ แทรกตัวอยู่ บางทีไปก็เจองานเสวนาเปิดตัวหนังสือด้วยล่ะ
จุดวาร์ป: ด้วยความที่สาขาเยอะไปหมด ขอแนะนำให้ไปแถวห้างเชน 凯德 MALL เข้าไว้ ส่วนเราชอบไปสาขาตรงสถานีซีจื๋อเหมิน (西直门 | Xizhimen) เพราะอยู่ใกล้จ้ะ
Xinhua Bookstore Xidan | 西单图书大厦 หรืออีกชื่อคือ Beijing Bookstore
ที่นี่เป็นร้านหนังสือแนวดวงกมลดอกหญ้า (บ่งบอกอายุมาก ๆ 555) สมัยเรายังเด็ก คือมีแต่หนังสือ (ภาษาจีนเป็นส่วนใหญ่ อังกฤษมีประปราย) บนชั้นเรียงรายไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีความมุมิเปิดเพลงคลอไฟ สีส้มนวล ตอนก้าวเข้าไปครั้งแรกคิดว่าบรรยากาศที่นี่ช่างทะมึน แต่ไปทีไรก็ขลุกอยู่ในนั้นไม่ต่ำกว่าสามชั่วโมงทุกครั้ง เพราะหนังสือและหมวดหมู่เยอะเอามาก ๆ กว่าจะขึ้นไปถึงชั้น 5 เล่นเอาตาลาย
(ภาพจาก dianping.com)
ถ้าอยากส่องบรรยากาศร้านหนังสือแบบคลาสสิคไร้ความปรุงแต่งก็ลองมาที่นี่ได้ เสร็จแล้วเดินไปกินข้าวช้อป ปิ้งต่อที่ซีตันเส้นหลักก็ยังไหวข้อดีอีกอย่างคืออยู่ติดสถานีรถไฟใต้ดินซีตันเล้ย
จุดวาร์ป: รถไฟใต้ดินสถานีซีตัน (西单 | Xidan) ทางออกไหนใกล้ต้องแล้วแต่ว่ าขึ้นรถมาจากไหนด้วย ปกติเราออก Exit A เดิน 300 เมตรจ้ะ
แถม: Paragon Book Gallery | 佳作书局
แบรนด์เก่าแก่เกือบ 80 ปีที่มีต้นกำเนิดโดยชาวต่างชาติในนครเซี่ยงไฮ้ ก่อนจะย้ายไปที่นิวยอร์กและชิคาโกโดยเน้นหนังสืองานศิลปะฝั่งเอเชีย และเพิ่งจะมาเปิดสาขาในปักกิ่งเมื่อปี 2014 นี่เอง
(ภาพจาก dianping.com)
สาขาในจีนจะเน้นหนังสือศิลปะจากทั้งยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ในปักกิ่งเท่าที่รู้ตอนนี้มีสองสาขาที่ 798 Art District กับอีกสาขาเล็ก ๆ ใกล้กับ Beijing Central Academy of Fine Arts (CAFA) เราไปเจอสาขาหลังมาเพราะไปดูนิทรรศการที่มิวเซียมของ CAFA พอดี ร้านแอบเล็กจิ๋วแต่คุมตีมได้ละลานตามาก ๆ แค่หลงเข้าไปเดินก็เพลินแล้วว
จุดวาร์ป: เนื่องจากนอกกระแสเกินไป แจ้งจุดวาร์ปไม่ไหว แนะนำให้นั่งแท๊กซี่ทั้งสองสาขาเลยจ้า เพราะฉะนั้นควรมีมิชชันหลักเป็นการไป CAFA หรือ 798 Art District ส่วนร้านนี้เป็นของแถมพอกรุบกริบ
แนะนำกันพอหอมปากหอมคอ ถ้าเพื่อน ๆ ได้มาเที่ยวเมืองหลวงแบบมีเวลาเดินทอดน่องเย็นใจ ก็ลองแวะไปดูร้านหนังสือในจีนที่ดีไซน์เก๋ไก๋ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญกันนะ ชาวหนอน ฯ เซฟเอนทรีนี้ไว้แล้วไปตามรอยได้เล้ย!
15 ก.ย. 2562
17 ส.ค. 2563
3 ก.ย. 2561