Last updated: 30 ก.ค. 2561 | 32825 จำนวนผู้เข้าชม |
ไปดูกันเลยดีกว่า ว่าการเดินทางแบบต่าง ๆ ภายในตัวเมืองของจีนจะมีอะไรบ้างนะ
1. รถไฟใต้ดิน | 地铁
ทุกวันนี้เมืองใหญ่ ๆ ในจีน ไม่ว่าจะเป็นกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เฉิงตู นานกิง คุนหมิง ฯลฯ ล้วนแต่มีรถไฟใต้ดินเป็นขนส่งสาธารณะกันหมดแล้ว ส่วนเมืองขนาดรองลงมาต่างก็ทยอยสร้างกันอยู่ และส่วนใหญ่ก็เชื่อมต่อกับสนามบินและสถานีรถไฟความเร็วสูงด้วย ทำให้การเดินทางเข้าเมืองสะดวกขึ้นเยอะ เราเลยรู้สึกว่านี่เป็นวิธีที่สะดวก ประหยัดเวลา และเดินทางได้ทั่วถึงที่สุด
ตั๋วรถไฟใต้ดินแบบเที่ยวเดียว เมืองเฉิงตู เดินทาง 3-4 สถานี ราคา 3 หยวน
ที่สำคัญคือราคายังเป็นมิตร ตกแค่เที่ยวละ 3-4 หยวนหรือ 15-20 บาทเท่านั้นในโซนใจกลางเมือง ซึ่งที่เที่ยวส่วนใหญ่ก็กระจุกกันอยู่แต่เมืองชั้นในนั่นแหละ หรือถึงจะมีเหตุให้ต้องนั่งไปไกลสุดสาย ค่าโดยสารก็ยังไม่เกิน 10 หยวนอยู่ดี
ตู้ซื้อตั๋วอัตโนมัติมีภาษาอังกฤษนะ ช่วยนักท่องเที่ยวอย่างเราได้มาก
จากหน้าจอนี้ ป้ายที่ไกลที่สุดแค่ 7 หยวนเอง
ภายในสถานีจะมีตู้ซื้อตั๋วอัตโนมัติให้บริการ หรือถ้าใครอยากเที่ยวในเมืองหลายวัน จะเดินไปซื้อบัตรเติมเงินกับที่เคาน์เตอร์ก็ได้ เพราะนอกจากจะได้ส่วนลดนิดหน่อยแล้ว บัตรยังเอาไปใช้กับรถเมล์ได้อีก ส่วนการเข้าสถานีต้องผ่านการสแกนกระเป๋าอย่างจริงจัง และต้องโชว์บรรจุภัณฑ์ที่มีของเหลวให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย
บ่ายแก่วันธรรมดา โชคดีที่ไม่เจอจังหวะปลากระป๋อง
สุดท้าย ขอให้ระวังการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนสักนิด เพราะจีนก็เหมือนเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ผู้คนจะมาเบียดเสียดใช้ขนส่งสาธารณะกันในยามเช้าหรือตอนเลิกงาน แต่อย่าลืมคูณระดับความแน่นเอี้ยดไปอีก 8 เท่า
2. รถเมล์สาธารณะ | 公共汽车
วิธีนี้จะช่วยให้ได้คลุกคลีกับชาวจีนในบรรยากาศโลคอลสุด ๆ ค่าตั๋วก็แสนจะถูก แค่ราว 2 หยวนหรือ 10 บาท เท่านั้น รถมีทั้งแบบติดแอร์และไม่ติดแอร์ ราคาก็ลดหลั่นกันไป โดยแต่ละเมืองค่าโดยสารอาจต่างกันเล็กน้อย และถ้าใช้บัตรโดยสารแบบเติมเงิน (ที่ใช้ได้กับทั้งรถเมล์และรถไฟใต้ดิน) ก็จะได้ส่วนลดอีก อย่างไรก็ดี ตอนนี้ชาวจีนส่วนมากนิยมใช้มือถือจ่ายค่าโดยสาร แบบว่าใช้กระเป๋าตังค์ของแอพ Wechat สแกน QR code ปิ๊บแล้วจบเลย
รถเมล์ส่วนใหญ่จะเป็นรถสองตอน ทุกประตูมีที่สแกนบัตรหรือมือถือเพื่อจ่ายค่ารถ
แต่ถ้าใครจะจ่ายเงินสด ต้องขึ้นประตูข้างคนขับอย่างเดียว
เราชอบรถเมล์ตรงที่จอดป้ายถี่กว่า และพาซอกแซกได้ละเอียดกว่ารถไฟใต้ดิน ยิ่งบางเมืองอย่างปักกิ่งยังมีรถบัสพาไปถึงที่เที่ยวนอกเมืองอย่างกำแพงเมืองจีนด้วย ส่วนข้อเสียคือตอนชั่วโมงเร่งด่วนคนอาจแน่นเอี้ยดไปอีกและรถติดมากกกกกก
อีกนิดที่ต้องระวังคือ ควรจดหรือจำชื่อภาษาจีนของป้ายที่จะขึ้นลงให้แม่น และต้องเตรียมเศษเหรียญให้พอดี เพราะคนขับไม่มีทอนนะจ๊ะ
3. แท๊กซี่ | 出租车
รถเมืองจีนเป็นพวงมาลัยซ้ายนะ
แท๊กซี่ในจีนก็มีหลายสี แต่ไม่สดใสดั่งสายรุ้งเหมือนของกรุงเทพฯ แต่ที่เห็นกันบ่อย ๆ จะเป็นรถสีเขียวสลับขาวหม่น ส่วนเรื่องค่าโดยสารก็ตามมิเตอร์เลย ราคาสตาร์ทขึ้นอยู่กับว่าเมืองที่ไปนั้นค่าครองชีพสูงต่ำแค่ไหน อย่างเซี่ยงไฮ้หรือปักกิ่งจะเริ่มที่ราว ๆ 15 หยวน ส่วนเฉิงตูอยู่ที่ 8 หยวน (แต่ถ้ามีค่าทางด่วนก็ต้องจ่ายเองนะ) ส่วนในเมืองเล็ก รถอาจไม่ใช่หน้าตาแบบนี้ แถมยังไม่มีมิเตอร์ด้วย ควรต่อรองราคาให้เสร็จสรรพก่อนขึ้น
แท๊กซี่ในหลายเมือง พี่คนขับจะมีรั้วเหล็กรายล้อมแบบนี้ นัยว่าเป็นการป้องกันอาชญกรรม
วิธีนี้สะดวกและเหมาะกับกลุ่มที่มีสมาชิก 3-4 คน (แท๊กซี่จีนห้ามรับผู้โดยสารเกิน 4 คน) แต่ผู้โดยสารควรสนทนาจีนได้บ้าง เพราะคนขับมักพูดอังกฤษไม่ค่อยได้ หรือไม่ก็ควรเตรียมชื่อและที่อยู่ของจุดหมายปลายทางเป็นภาษาจีนไว้ สมมุติถ้าจะออกจากโรงแรมไปเดินเล่นแล้วตั้งใจจะนั่งแท๊กซี่ขากลับ ก็ขอนามบัตรของโรงแรมเอาไว้เลย
บางครั้งถ้าเรียกแท๊กซี่ในเมืองเล็ก พี่คนขับอาจชะลอและแวะรับลูกค้ารายอื่นที่ไปทางเดียวกันขึ้นมาด้วย แต่เก็บทุกคนราคาเต็มนะ (ฮา) นาทีนั้นพี่เขาต้องทำมาหากิน ไม่เกรงใจผู้โดยสารกันล่ะ
เฮย์เชอก็คล้าย ๆ อูเบอร์ แต่เช็กประวัติคนขับไม่ได้
และมักจะมีปัญหาเรื่องราคาทีหลังถ้าไม่ตกลงให้ดีตั้งแต่แรก
ป.ล. จริง ๆ ยังมีอีกตัวเลือก นั่นคือแท๊กซี่เถื่อนหรือ "เฮย์เชอ (รถดำ)" เป็นรถที่ไม่มีใบอนุญาตขับแท๊กซี่ แต่คนขับจะมายืนออตามทางออกสถานีรถบัสหรือรถไฟ คอยเดินตามถามไถ่รัว ๆ หากโชคดีอาจได้ราคาถูกกว่าแท๊กซี่จริงนิดหน่อย มีรถให้เลือกหลายไซส์อีกเอ้า
แต่เราไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ ยกเว้นกรณีจำเป็นจริง ๆ เช่น ต้องออกเดินทางแล้วแต่ไม่มีตัวเลือกอื่น หรือเมืองนั้นไม่มีแท๊กซี่มิเตอร์ เพราะคนขับเฮย์เชอบางคนก็หัวหมอ ชอบเฉไฉเรื่องราคาตอนจะจ่าย ดังนั้น อย่าลืมบอกที่หมายและต่อรองราคาให้แน่ชัดก่อนตกลงปลงใจ และยืนยันว่าราคานี้คือรวมผู้โดยสารทุกคนแล้วนะ ไม่ใช่ต่อคน อยากเตือนทุกคนเพราะเราเจ็บมาเยอะ
4. สองขาพาเพลิน | 走路
เป็นวิธีที่โลคอลยิ่งกว่าการนั่งรถเมล์ แต่อย่างที่รู้กันว่า เมืองจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล หากไม่ระวังอาจเดินขาลากได้ง่าย ๆ แนะนำให้โหลดแอพพลิเคชั่นแผนที่มาแพลนเส้นทางคร่าว ๆ ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินจากไหนไปไหนบ้าง แนะนำ Baidu Map แม้คนไทยจะไม่ค่อยชิน เพราะ Google Map อาจใช้ไม่สะดวกนักในเมืองจีน
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ โหลดแอพนับก้าวเพื่อเก็บสถิติด้วย เพราะการเที่ยวเมืองจีนนั้นเดินวันละหมื่นก้าวได้ไม่ยากเลย
บางทีก็มีจักรยานกับรถจักรยานไฟฟ้ามาแจมตอนข้ามถนน พอไฟเขียวก็ปาดหน้าเราซะงั้น
ความดีงามของการเดินเท้าในเมืองจีนคือฟุตบาทแสนจะกว้างขวาง แต่ตอนชั่วโมงเร่งด่วนคนก็อาจจะขวักไขว่ตามไปด้วย และหากเป็นที่ที่คนหนาแน่น ก็ควรระวังโจรล้วงกระเป๋าหรือนักต้มตุ๋นด้วย สุดท้ายคือเวลาข้ามถนนควรมองซ้ายขวาให้ดี เพราะแม้จะเป็นตอนไฟแดง แต่รถส่วนใหญ่เลี้ยวขวาผ่านตลอดจ้ะ
ของแถม: จักรยานแชร์ | 共享单车
แค่โหลดแอพ ลงทะเบียนและใส่เงินมัดจำไว้
จากนั้นก็ใช้มือถือสแกน QR code แล้วปลดล็อกเอาจักรยานไปขี่ได้เลย
บริการแชร์จักรยาน นับเป็นหนึ่งในกระแส sharing economy ที่ร้อนแรงสุด ๆ ของจีนในช่วงไม่กี่ปีนี้ แถมยังช่วยเบิกทางให้เกิดธุรกิจแชร์สิ่งอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จอย่างดงามเลยทีเดียว
จักรยานยี่ห้อ ofo สีเหลืองกับ mobike สีส้ม สองยักษ์ใหญ่ที่ขับเคี่ยวกันในวงการ bike sharing จีน ณ เวลานี้
แถมสนามแข่งขันยังลุกลามไปถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้บริการจักรยานแชร์ในจีนยังต้องอาศัยแอพที่ผูกกับบัญชีธนาคารจีนเท่านั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเราคงต้องรอไปก่อน แต่นักเรียนหรือ expat ชาวไทยในจีนน่าจะใช้กันจนคล่องปร๋อไปแล้วเนอะ ส่วนในเมืองไทย ตอนนี้จักรยานแชร์สัญชาติจีนอย่าง ofo กับ mobike ก็รุกเข้ามาแล้วเหมือนกัน แต่เปิดให้บริการเพียงในบางพื้นที่เท่านั้น ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นคนไทยใช้จักรยานแชร์กันมากขึ้นก็ได้นะ
อันที่จริง เมืองจีนยังมีวิธีเดินทางสุดชิคแบบอื่น ๆ อีก เช่น สามล้อที่หน้าตาไม่เหมือนรถตุ๊กตุ๊ก รถลากด้วยแรงปั่นของคนขับ และบางเมืองก็มีจักรยานไฟฟ้ารับจ้าง (เหมือนมอเตอร์ไซค์พี่วินนั่นแหละ) เราเลยรู้สึกว่าการเที่ยวจีนยังมีอะไรน่าสนุกอีกเยอะ ใครที่สนใจจะเที่ยวจีนด้วยตัวเอง คงต้องอาศัยขนส่งสาธารณะเหล่านี้ไม่มากก็น้อย หวังว่าเอนทรีนี้จะช่วยให้ทุกคนเดินทางได้สะดวกง่ายดายมากขึ้นนะคะ
15 ก.ย. 2562
3 ก.ย. 2561